แผนที่ความยากจนประเทศไทย (dynamic web)
   แผนที่ความยากจนประเทศไทย (static web)
ประโยชน์ของแผนที่ความยากจน
ข้อมูลเชิงพื้นที่เกี่ยวกับความยากจนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถให้รายละเอียดที่เพียงพอ ทำให้การนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผน กำหนดนโยบายและโครงการพัฒนาให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะไม่สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงได้ แผนที่ความยากจนจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ประโยชน์ของแผนที่ความยากจน
1. เป็นข้อมูลสนับสนุนการดำเนินนโยบายขจัดความยากจนของภาครัฐ โดยช่วยให้การจัดสรรงบประมาณ และทรัพยากรอื่นๆ ในเชิงพื้นที่ สอดคล้องกับจำนวนคนจนและระดับความยากจน ลดปัญหาที่บางพื้นที่ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอ และบางพื้นที่มากเกินพอ

2. ช่วยประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายให้กับบุคลากรของ สสช.และ สศช. และร่วมจัดทำแผนที่ความยากจนของปี 2545
ประวัติการจัดทำ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ริเริ่มการศึกษาวิจัยการจัดทำแผนที่ความยากจนของประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี 2544 ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศ ด้านการวิเคราะห์ความยากจน และติดตามประเมินผลระยะที่ 1 (Country Development Partnership in Poverty Analysis and Monitoring : CDP–PAM Phase I) จากธนาคารโลก โดยเป็นความร่วมมือของ 4 องค์กร ได้แก่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งเป็นผู้วิจัยการจัดทำแผนที่ความยากจน พ.ศ. 2543 ธนาคารโลกให้คำปรึกษาด้านเทคนิค และอนุเคราะห์ เงินทุนอุดหนุนวิจัย ส่วน สสช. และ สศช. ให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูล และร่วมจัดทำแผนที่ความยากจนกับทีดีอาร์ไอ

     ปี 2548 สสช. และ สศช. ได้จัดทำโครงการแผนที่ความยากจน ระยะที่ 2 ภายใต้โครงการ CDP-PAM ระยะที่ 2 ธนาคารโลกได้จัดจ้างที่ปรึกษาจากทีดีอาร์ไอและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการอบรมและถ่ายโอนเทคนิคการจัดทำแผนที่ความยากจนที่ได้ศึกษาวิจัยจากโครงการระยะที่ 1 ให้กับบุคลากรของ สสช.และ สศช. และร่วมจัดทำแผนที่ความยากจนของปี 2545

     ปัจจุบัน สสช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำแผนที่ความยากจนอย่างต่อเนื่อง ได้จัดทำแผนที่ความยากจน ปี 2547 โดยธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือด้านที่ปรึกษาโครงการจากทีดีอาร์ไอในการปรับปรุงเทคนิคการจัดทำ และมีแผนงานที่จะจัดทำแผนที่ความยากจนทุก 2 ปี ในปีถัดไปจากปีการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ที่มีเนื้อหาทั้งรายได้และรายจ่ายของครัวเรือน
การทำแผนที่ความยากจน
วิธีการจัดทำแผนที่ความยากจน

คือการประมาณการรายได้และรายจ่ายของครัวเรือนไทยทั้งประเทศตามที่ปรากฏในข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะแล้วนำมาเปรียบเทียบกับเส้นความยากจนเพื่อกำหนดว่าครัวเรือนใดจนและครัวเรือนใดไม่จน โดยมีการจัดทำแบบจำลองจำนวน 308 แบบจำลอง บนข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน เป็นแบบจำลองรายจังหวัด และในแต่ละจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) แบ่งย่อยออกเป็นในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล ส่วนกรุงเทพมหานครแบ่งออกเป็น 4 เขตย่อย ดังนี้

กรุงเทพ 1 ประกอบด้วย 19 เขต ได้แก่ เขตพระนคร(01) ดุสิต(02) บางรัก(04) ปทุมวัน(07) ป้อมปราบศัตรูพ่าย(08) ยานนาวา(12) สัมพันธวงศ์(13) พญาไท(14) ธนบุรี(15) ห้วยขวาง(17) คลองสาน(18) บางกอกน้อย(20) ดินแดง(26) สาธร(28) บางคอแหลม(31) คลองเตย(33) ราชเทวี(37) วัฒนา(39) วังทองหลาง(45)

กรุงเทพ 2 ประกอบด้วย 9 เขต ได้แก่ เขตหนองจอก(03) บางกะปิ(06) พระโขนง(09) มีนบุรี(10) ลาดกระบัง(11) สวนหลวง(34) ประเวศ(32) สะพานสูง(44) บางนา(47)

กรุงเทพ 3 ประกอบด้วย 10 เขต ได้แก่ เขตบางเขน(05) บางซื่อ(29) บึงกุ่ม(27) จตุจักร(30) ดอนเมือง(36) ลาดพร้าว(38) หลักสี่(41) สายไหม(42) คันนายาว(43) คลองสามวา(46)

กรุงเทพ 4 ประกอบด้วย 12 เขต ได้แก่ เขตบางกอกใหญ่(16) ตลิ่งชัน(19) บางขุนเทียน(21) ภาษีเจริญ(22) หนองแขม(23) ราษฎร์บูรณะ(24) บางพลัด(25) จอมทอง(35) บางแค(40) ทุ่งครุ(49) ทวีวัฒนา(48) บางบอน(50)

ความแม่นยำของแผนที่ความยากจน ได้มีการลงสำรวจพื้นที่เพื่อตรวจสอบความแม่นยำของแผนที่ความยากจนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบว่ามีความแม่นยำสูงเป็นที่น่าพอใจ สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชากรไทยจากมุมมองของประชาชนเอง ในขณะที่ข้อมูลอื่น ๆ ยังมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
นิยามศัพท์ที่สำคัญ
นิยามคำศัพท์

          1) รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน (Monthly Current Income Per Capita)

          หมายถึง รายได้ประจำเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน ซึ่งประกอบด้วย

          (1) ค่าจ้างและเงินเดือน (รวม ค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ได้จากการทำงาน)

          (2) กำไรสุทธิจากการประกอบธุรกิจการเกษตรและธุรกิจอื่น ๆ

          (3) รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าลิขสิทธิ์ ดอกเบี้ย และเงินปันผล

          (4) เงินได้รับเป็นการช่วยเหลือ บำเหน็จ บำนาญ เงินสงเคราะห์ รวมทั้งเงิน ชดเชยการออกจากงานและเงินทดแทน

          (5) รายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน ได้แก่ มูลค่าของสินค้าและบริการที่ได้รับเป็นส่วนหนึ่ง ของค่าจ้าง เงินเดือน มูลค่าของสินค้าหรืออาหารที่ครัวเรือนผลิตและบริโภคเอง ( รวมค่าประเมินค่าเช่า บ้านที่ครัวเรือนเป็น เจ้าของ ) หรือได้รับมาโดยไม่ต้องซื้อ

          ไม่รวม รายรับที่เป็นตัวเงินอื่น ๆ เช่น เงินได้รับจากการประกันภัยหรือประกันชีวิต เงินรางวัล สลากกินแบ่ง และรายรับอื่น ๆ ในประเภทเดียวกัน

          รายได้เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่บอกฐานะความมั่งมี และความอยู่ดีกินดีของ ประชากร เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชากร รัฐบาลจึงมีนโยบายต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายของประชากร

          2) ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน (Monthly Consumption Expenditures Per Capita)

          หมายถึง ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพที่ครัวเรือนต้อง ซื้อ/จ่ายด้วยเงิน หรือได้มาโดยไม่ได้ซื้อ/จ่าย (ผลิตเอง ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น รัฐ เป็นสวัสดิการ จากการทำงาน หรือเบิกได้จากนายจ้าง) ซึ่งประกอบด้วย

          (1) ที่อยู่อาศัย

          ( 2) เครื่องแต่งบ้าน เครื่อ งใช้เบ็ดเตล็ด และการดำเนินการในครัวเรือน

          (3) ค่าจ้างบุคคลที่ให้บริการแก่ครัวเรือน

          (4) เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า ของใช้/บริการส่วนบุคคล
          (5) เวชภัณฑ์และค่ารักษาพยาบาล

          (6) การเดินทางและการสื่อสาร

          (7) การศึกษา

          (8) การบันเทิง การอ่าน และกิจกรรมทางศาสนา

          ไม่รวม 1) รายจ่ายอื่นๆ เช่น ค่าภาษี เงินบริจาค ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าสลากกินแบ่ง ดอกเบี้ยจ่าย และรายจ่ายที่มิใช่เพื่อการบริโภคอื่น ๆ

          2) ค่าใช้จ่ายประเภทสะสมทุน เช่น ค่าซื้อ ( หรือเช่าซื้อ ) บ้านที่ดิน ของ มีค่า เช่น ทองคำ เพชร พลอย ฯลฯ และเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต ประเภทสะสมทรัพย์ เงิน สมทบกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

          ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งที่จะบอกฐานะความเป็นอยู่ของประชากรและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากกับรายได้ กล่าวคือ ผู้มีรายได้สูงจะมีความสามารถในการใช้จ่ายสูงโดยปกติผู้มีฐานะดีจะใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่าผู้มีฐานะยากจน โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ในขณะที่คนยากจนจะใช้จ่ายน้อยด้วยข้อจำกัดมีรายได้ต่ำ

          3 ) เส้นความยากจน (Poverty Line)

          เส้นความยากจน เป็นเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้แจกแจงคนจนและคน ไม่จน โดยเส้นความยากจนนี้คำนวณขึ้นมาเป็นตัวเงิน ที่สะท้อนต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของบุคคลในการได้มาซึ่งอาหารและสินค้าอุปโภคที่จำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำของการดำรงชีพ เส้นความยากจน (Poverty Line) ประกอบด้วยเส้นความยากจนด้านอาหาร (Food Poverty Line) และเส้นความยากจนที่ไม่ใช่อาหาร (Non Food Poverty Line) รวมกัน มีหน่วยเป็นบาท/ คน/ เดือน

          โดยแนวคิดเส้นความยากจนด้านอาหารกำหนดขึ้นจากความต้องการสารอาหาร แคลอรีและโปรตีนของคนที่แตกต่างกันตามเพศและอายุ รวมทั้งแบบแผนการบริโภค และค่าครองชีพที่แตกต่างกันตามภูมิภาคและพื้นที่ แต่ได้รับความพึงพอใจหรืออรรถประโยชน์ (Utility) เท่ากัน
     
     4) สัดส่วนคนจน (Poverty Rate, Headcount Index, Headcount Ratio :P 0)

          เป็นตัวที่บ่งชี้ภาวะความยากจน (Poverty Incidence) ซึ่งนิยมใช้มาก โดยคนจน หมายถึง คนที่มีรายได้หรือค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งสัดส่วนคนจนมีประโยชน์ในการบอกสภาวการณ์ความยากจนว่ามีจำนวนคนจนอยู่เท่าไรมากน้อยเพียงใดใน แต่ละพื้นที่ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าระดับความยากจนมากน้อยเพียงใด หากคนจนยากจนยิ่งกว่าเดิมสัดส่วนคนจนก็ยังเท่าเดิม เนื่องจากไม่สามารถบอกได้ว่ามีระดับความยากจนว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใดค่าสัดส่วนคนจนที่ได้นิยมคูณด้วย 100 เพื่อให้มีหน่วยเป็นร้อยละ เช่น สัดส่วนคนจนจังหวัดกระบี่ ร้อยละ 15 หมายความว่าในจำนวนประชากรจังหวัดกระบี่ 100 คน เป็น คนจน 15 คน

 

          สูตรการคำนวณ : P 0 =

          โดยที่ P 0 = สัดส่วนคนจน ( ด้านรายได้หรือด้านค่าใช้จ่าย )

          N p = จำนวนคนทั้งหมดที่มีรายได้ประจำ ( หรือค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค) เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจน

          N = จำนวนประชากรทั้งสิ้น

          y i = รายได้ประจำ ( หรือค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ) เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน

          I = 1 ถ้า ( y i < z )

            = 0 ถ้า ( y i > z)

          z = เส้นความยากจน

          5) ดัชนีช่องว่างความยากจน (Poverty Gap Index, Poverty Gap Ratio : P 1 )

          ใช้วัดระดับความยากจน มีมากน้อยเท่าไร ได้จากการหาความแตกต่างระหว่างเส้นความยากจนกับรายได้ประจำหรือค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของคนจนทุกคน โดยเฉลี่ยเป็นอัตราส่วนเท่าไรของเส้นความยากจน ค่าดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0 และ 1 อาจจะทำหน่วยเป็นร้อยละ โดยการคูณด้วย 100 ก็ได้ ค่าดัชนียิ่งสูง แสดงว่าช่องว่างความยากจนยิ่งมากขึ้น

          ช่องว่างความยากจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ (Minimum Cost) ลงในพื้นที่ยากจนเป้าหมายที่จะช่วยให้คนจนหลุดพ้นความยากจนอย่างหยาบ แต่ไม่สามารถวัดความเหลื่อมล้ำของรายได้/ค่าใช้จ่ายของคนจนด้วยกัน

          สูตรการคำนวณ :

          โดยที่ G n = (z – y i) . I ( y i z)

          P 1 = ดัชนีช่องว่างความยากจน ( ด้านรายได้หรือค่าใช้จ่าย )

          G n = ช่องว่างรายได้ประจำ (หรือค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค) ของคนจนและเส้นความยากจน

          z = เส้นความยากจน

          y i = รายได้ประจำ (หรือค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค) เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน

          I = 1 ถ้า ( y i < z )

            = 0 ถ้า ( y i > z)

          N = จำนวนประชากรทั้งสิ้น

          6) ดัชนีความรุนแรงของความยากจน (Severity of Poverty Index, Squared of Poverty Gap Index : P 2 )

          ใช้วัด ความเหลื่อมล้ำของรายได้/ค่าใช้จ่ายของคนจนด้วยกัน ว่าระดับความรุนแรงของความยากจน มีมากน้อยเพียงใด (Depth or Severity of Poverty) โดยให้น้ำหนักหรือความสำคัญกับคนยากจนมากๆ (มีรายได้หรือค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจนมาก) คำนวณโดยการยกกำลังสองช่องว่างความยากจน

          ดัชนีมีค่าอยู่ระหว่าง 0 และ 1 อาจทำให้หน่วยเป็นร้อยละก็ได้ โดยการคูณ 100 ค่าดัชนียิ่งสูงขึ้นแสดงว่ามีความรุนแรงของความยากจนมากขึ้น ซึ่งหากมีจำนวนคนจนที่มีรายได้หรือค่าใช้จ่าย อยู่ในระดับต่ำมากจากใต้เส้นความยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก ค่าดัชนีดังกล่าวจะมีค่าสูงกว่า กรณีที่มีคนจนจำนวนมากที่มีรายได้หรือค่าใช้จ่ายไล่เลี่ยกับเส้นความยากจน

          สูตรการคำนวณ :

          โดยที่ G n = (z - y i) . I ( y i z)

          P 2 = ความรุนแรงของความยากจน (ด้านรายได้หรือค่าใช้จ่าย)

          G n = ช่องว่างรายได้ประจำ (หรือค่าใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค) ของคนจนและเส้นความยากจน

          z = เส้นความยากจน

          y i = รายได้ประจำ (หรือค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค) เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน

          I = 1 ถ้า ( y i < z )

            = 0 ถ้า ( y i > z)

          N = จำนวนประชากรทั้งสิ้น

          7) สัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคหรือดัชนีจินี (Gini Coefficient, Gini Index)

          เป็นดัชนีความไม่เท่าเทียมกันหรือความเหลื่อมล้ำของรายได้ หรือค่าใช้จ่ายของประชากรทั้งหมด โดยให้ทุกคนมีโอกาสตามความสามารถเท่าเทียมกันหรือเสมอภาคกันอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะแตกต่างจากสัดส่วนคนจนที่จะมุ่งเน้นบุคคลหรือครัวเรือนที่อยู่ในตำแหน่งส่วนล่างสุดของการกระจายรายได้ของประชากร ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเท่านั้น ดัชนีจินี มีค่าอยู่ระหว่าง 0 และ 1 โดยค่ายิ่งมากขึ้นแสดงว่าการกระจาย รายได้หรือ ค่า ใช้จ่ายมีความไม่เท่าเทียมกันหรือมีความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น ค่า 0 แสดงถึงการกระจายรายได้หรือการใช้จ่ายมีความเท่าเทียมกันอย่าง สมบูรณ์ และค่า 1 แสดงถึงการกระจายรายได้หรือการใช้จ่ายมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์

          สูตรการคำนวณ : Gini =

          โดยที่

           = รายได้ประจำ (หรือค่าใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค)
                   เฉลี่ยต่อเดือนของบุคคลที่ i ; i = 1, 2,…, n

          = รายได้ประจำ ( หรือค่าใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค)
                    เฉลี่ยต่อเดือนของบุคคลที่ j ; j = 1, 2,…, n

           = ค่าเฉลี่ยของรายได้ประจำ (หรือค่าใช้จ่ายเพื่ออุปโภค)
                    บริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน

           = จำนวน ประชากรทั้งสิ้น

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานในประเทศ
   http://poverty.nesdb.go.th
   http://www.tdri.or.th


 หน่วยงานต่างประเทศ

   http://www.worldbank.org/poverty
   http://imf.org/external/np/wxr/facts/prgf.htm
   http://www.undp.org
   http://adb.org/poverty
   http://www.wider.unu.edu

ติดต่อทีมงาน
กลุ่มงานวิเคราะห์และพยากรณ์สถิติเชิงเศรษฐกิจ
สำนักสถิติพยากรณ์
สำนักงานสถิติแห่งชาติ
โทรศัพท์ 0-2281-0333 ต่อ 1407 , 1404 - 1405
โทรสาร 0-2282-5861

คุณผกามาศ รัตนาลังการ
  E-mail address   : pakamas@nso.go.th

คุณ อารีรัตน์ กิตติสมบูรณ์สุข
  E-mail address   : areeratk@nso.go.th

คุณอมรศรี ประทุม
  E-mail address   : amornsri.p@nso.go.th

คุณเสาวณีย์ ทิพย์อุต
  E-mail address   : saowanee.t@nso.go.th