:: แผนการดำเนินงานสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 

1.  ความเป็นมา
การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประชากรของประเทศในรูปของการทำสำมะโนประชากร จัดทำครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2452 และต่อมาใน พ.ศ. 2462   2472   2480  และ 2490  ซึ่งทั้ง 5 ครั้งนี้จัดทำโดยกระทรวงมหาดไทย  เรียกว่าสำรวจสำมะโนครัว  สำนักงานสถิติแห่งชาติรับผิดชอบและดำเนินการจัดทำ สำมะโนประชากร ตามพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 โดยจัดทำครั้งแรก พ.ศ. 2503 และครั้งต่อมาจัดทำเมื่อ พ.ศ. 2513  2523  2533  2543  นับตั้งแต่ พ.ศ. 2513  เป็นต้นมา  สำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีการจัดทำสำมะโนเคหะไปพร้อมกับการทำสำมะโนประชากร ซึ่งในปี 2553 นี้  จะเป็นการทำสำมะโนประชากรครั้งที่ 11 และเป็นการทำสำมะโนเคหะครั้งที่ 5 ของประเทศไทย   

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือกับ 8 หน่วยงาน คือ  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงแรงงาน  กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด   เพื่อระดมทรัพยากรและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละหน่วยงาน ร่วมกันพัฒนาระบบอย่างบูรณาการ ให้ตรงกับความต้องการของภาครัฐและเอกชนมากที่สุด นับเป็นการปฏิรูปการทำสำมะโนประชากรในรอบ 100 ปี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำนโยบาย แผนงาน และมาตรการส่งเสริม  และสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่หรือจุดต่าง ๆ โดยใช้สถิติที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด

2.  วัตถุประสงค์และประโยชน์

วัตถุประสงค์ที่สำคัญ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะของประชากรทุกคนในครัวเรือน ณ ที่อยู่ปกติที่พบในวันสำมะโน รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะต่างๆ ของที่อยู่อาศัยของประชากร ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ใช้ในการกำหนดนโยบายเพื่อการบริหาร  ใช้ในการวิเคราะห์วิจัยต่าง ๆ และใช้ในการคาดประมาณประชากรในอนาคต

ประโยชน์ที่จะได้รับจากข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ  สรุปได้ดังนี้
1.  ใช้ในการกำหนดนโยบายวางแผนด้านประชากร เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งด้านความมั่นคงของประเทศได้ถึงระดับหมู่บ้าน
2.  ใช้เป็นฐานในการคาดประมาณประชากรในอนาคต 
3.  ใช้เป็นกรอบในการเลือกตัวอย่าง (Sampling Frame) ในการทำการสำรวจต่าง ๆ
4.  ใช้ในการติดตามประเมินผลแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) 
5.  ใช้ในการเตรียมทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)

3.  คุ้มรวม
3.1  คุ้มรวมประชากร

 1) ประชากรที่อยู่ในคุ้มรวม  ได้แก่
  • คนไทยทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในวันสำมะโน
  • คนที่มีสถานที่อยู่ปกติในประเทศไทยแต่วันสำมะโนได้ไปฝึกภาค  ซ้อมรบ  เดินเรือทะเล หรือไปต่างประเทศชั่วคราว
  • ข้าราชการฝ่ายพลเรือนและทหาร รวมทั้งคณะทูตของประเทศไทย พร้อมทั้งครอบครัว  ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในต่างประเทศ
  • บุคคลพลเรือนต่างด้าวที่มีสถานที่อยู่ปกติในประเทศไทย รือบุคคลพลเรือนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยชั่วคราวเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป นับถึงวันสำมะโน

   2) ประชากรที่ไม่อยู่ในคุ้มรวม  ได้แก่
  • เจ้าหน้าที่ทูตและทหารของต่างประเทศพร้อมทั้งครอบครัว ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย
  • บุคคลพลเรือนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่ถึง  3 เดือน  นับถึงวันสำมะโน
  • ผู้อพยพหรือผู้หลบหนีเข้าเมือง  ซึ่งอยู่ในค่ายอพยพที่รัฐบาลกำหนด
3.2  คุ้มรวมเคหะ ได้แก่ สถานที่ใช้อยู่อาศัย (บ้าน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ทุกประเภท) ที่อยู่ในคุ้มรวมของการแจงนับประชากร