:: รายการข้อมูลที่เกี่ยวข้อง - สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2543
   ระเบียบวิธีสำมะโน
สำมะโนประชากรและเคหะ

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์
การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประชากรของประเทศไทย ในรูปของการทำสำมะโนประชากรได้จัดทำขึ้น เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2452 และต่อมาใน พ.ศ. 2462 2472 2480 และ 2490 ซึ่งทั้ง 5 ครั้งนี้จัดทำโดย กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รับผิดชอบและดำเนินการจัดทำสำมะโนประชากรตั้งแต่ พ.ศ. 2503 และได้จัดสำมะโนทุกระยะ 10 ปี ตามอำนาจหน้าที่กำหนดในพระราช บัญญัติสถิติ พ.ศ. 2508 และตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา ได้มีการจัดทำสำมะโนเคหะไปพร้อมๆ กับการทำสำมะโนประชากรด้วย ดังนั้น การทำสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2543 จึงนับเป็นสำมะโนประชากรครั้งที่ 10 และเป็นสำมะโนประชากรและเคหะครั้งที่ 4 ของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบจำนวนและลักษณะ รายละเอียดของประชากร ประกอบด้วย   ลักษณะทางประชากร ทางเศรษฐกิจและทางสังคม ตลอดจนลักษณะในการอยู่อาศัยของประชากร เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

คุ้มรวม
   คุ้มรวมประชากร  ได้แก่

  1. คนไทยทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในวันสำมะโน (1 เมษายน 2543)
  2. บุคคลที่มีสถานที่อยู่ปกติในประเทศไทย แต่ในวันสำมะโนได้ไปศึกษา ฝึกภาค ซ้อมรบ เดินเรือทะเล หรือไป  ต่างประเทศชั่วคราว
  3. ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน รวมทั้งคณะทูตของประเทศไทยพร้อมทั้งครอบครัวที่มีสำนักงานอยู่ใน        ต่างประเทศ
  4. บุคคลพลเรือนต่างด้าวที่มีสถานที่อยู่ปกติในประเทศไทย หรือบุคคลพลเรือนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ชั่วคราวเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปก่อนวันสำมะโน (ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2543)

คุ้มรวมเคหะ  ได้แก่  ที่อยู่อาศัยของครัวเรือนส่วนบุคคลทุกครัวเรือน  ที่อยู่ในขอบข่ายการแจงนับประชากร

ระเบียบวิธีการทำสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.
2543
สำนักงานสถิติแห่งชาติ  ได้นำระเบียบวิธีการเลือกตัวอย่างบางส่วนมาใช้ในการทำสำมะโน ดังนี้

 ครัวเรือนส่วนบุคคล   

ทำการนับจดจำนวนครัวเรือนและประชากรพร้อมกับแจงนับไปด้วย  กล่าวคือ  ทำการแจงนับเฉพาะข้อมูลพื้นฐาน
ประชากรทุกครัวเรือน  และเลือกครัวเรือนตัวอย่างร้อยละ 20  เพื่อแจงนับข้อมูลรายละเอียดของประชากรและเคหะ
ไปพร้อมกัน

ครัวเรือนกลุ่มบุคคล   

ทำการนับจดและแจงนับครัวเรือน  แต่ทำการแจงนับเฉพาะข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลรายละเอียดของประชากร
และไม่แจงนับข้อถามเคหะ

รายการข้อมูลที่เก็บรวบรวม

    ข้อมูลเกี่ยวกับประชากร

  1. ภาษาที่ใช้พูดประจำในระหว่างสมาชิกของครัวเรือน
  2. ความเกี่ยวพันระหว่างสมาชิกในครัวเรือนกับหัวหน้าครัวเรือน
  3. เพศ
  4. อายุของสมาชิกในครัวเรือน
  5. ศาสนา
  6. สัญชาติ
  7. ชั้นที่กำลังเรียน
  8. การอ่านออกเขียนได้
  9. ชั้นการศึกษาสูงสุดที่เรียนจบ
  10. สถานภาพสมรส
  11. อาชีพหลักในรอบปีที่เล้ว
  12. ลักษณะงานหรือประเภทกิจการของสถานที่ทำงาน
  13. สถานภาพการทำงาน
  14. อาชีพในรอบสัปดาห์ก่อนวันสำมะโน การหางานทำ  และความพร้อมในการทำงานในรอบสัปดาห์
  15. จำนวนบุตรเกิดรอด (ที่มีชีวิต ที่ตาย) และจำนวนบุตรเกิดใหม่ในรอบปีที่แล้ว
  16. สถานที่เกิด
  17. ระยะเวลาการอยู่อาศัยในที่อยู่ปัจจุบัน
  18. ลักษณะการย้ายถิ่นและเหตุผลในการย้ายถิ่น

    ข้อมูลเกี่ยวกับเคหะ

  1. ประเภทของที่อยู่อาศัย
  2. ลักษณะของที่อยู่อาศัยของครัวเรือน
  3. การครอบครองที่อยู่อาศัย (ไม่รวมที่ดิน)
  4. การถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน
  5. การใช้เชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร
  6. การใช้ส้วม
  7. แหล่งที่มาของน้ำดื่ม น้ำใช้
  8. เครื่องใช้ประเภทถาวรที่ครัวเรือนมีไว้ในครอบครอง

หมายเหตุ
ข้อมูลพื้นฐานของประชากร ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับประชากร รายการที่ 1-13
ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับ ประชากรและข้อมูลเคหะ ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับประชากรและข้อมูลเกี่ยวกับเคหะ ทั้งหมด

คาบเวลาการเก็บรวบรวมข้อมูล
ปฏิบัติงานเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนเมษายน พ.ศ. 2543

การเสนอผลรายงาน ดังนี้

  1. รายงานผลเบื้องต้น  เพื่อแสดงจำนวนประชากรและจำนวนครัวเรือนเป็นรายจังหวัด และอัตราเพิ่มของประชากรเฉลี่ยต่อปีระหว่าง พ.ศ. 2533-2543
  2. รายงานผลล่วงหน้า  เพื่อนำเสนอผลก่อนรายงานฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จ  โดยประมวลผลจากข้อมูลตัวอย่างประมาณร้อยละ 1 ของครัวเรือนทั้งหมด  แสดงข้อมูลในรูปตารางที่สำคัญในระดับภาคและทั่วราชอาณาจักร  
  3. รายงานผลสำมะโนประชากรและเคหะฉบับสมบูรณ์  เป็นรายงานในระดับจังหวัดทุกจังหวัด รวม 76 จังหวัด ระดับภาค 4 ภาค  และทั่วราชอาณาจักร
รายงานผลเชิงวิเคราะห์  เพื่อเสนอลักษณะที่สำคัญของประชากรเฉพาะเรื่อง เช่น ลักษณะในทางเศรษฐกิจ       การย้ายถิ่น  ภาวะเจริญพันธุ์  และดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจและสังคม