สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม
 
  :: สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555 > รายละเอียดการจัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555
    หลักการและเหตุผล  
  อำนาจหน้าที่ในการจัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม
  ความหมายสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม
  ความเป็นมา
  วัตถุประสงค์
  ประโยชน์ที่จะได้รับ
  ขอบข่ายและคุ้มรวม
  แผนการดำเนินงาน
  ระเบียบวิธีการทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555
  วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
  คาบเวลาการปฏิบัติงาน
  การเสนอผลและจัดทำรายงานผล
 


1. หลักการและเหตุผล

เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในยุคโลกไร้พรมแดน มีผลทำให้โครงสร้างการดำเนินธุรกิจ ทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และอุตสาหกรรมการผลิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการผลิตนับเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจสาขาหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของ ประเทศไทย โดยใน แต่ละปีมีมูลค่าผลผลิตประมาณ 2 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งก่อ ให้เกิดการจ้างแรงงานถึงประมาณ 5.8 ล้านคน จึงเห็นได้ว่าโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก ประกอบกับปัจจุบันมีการประกอบธุรกิจทั้งทางด้านการค้า การบริการ และ อุตสาหกรรมการผลิตใหม่ ๆ เกิดขึ้น รวมทั้งการประกอบอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และอุตสาหกรรมในครัว เรือน ก็มีบทบาทสำคัญ ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้นข้อมูลสถิติและสารสนเทศโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจดังกล่าว จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับภาครัฐและเอกชนใช้ในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทั้งในระดับประเทศ และระดับจังหวัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีการค้าโลก

สำหรับการจัดทำข้อมูลด้านเศรษฐกิจนี้ องค์การสหประชาชาติได้ให้ข้อเสนอแนะประเทศที่กำลังพัฒนา ควรมีการจัดทำข้อมูลสถิติในรูปแบบการจัดทำสำมะโนอย่างน้อยทุก 5 - 10 ปี เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการศึกษาการกระจายตัว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมและภาวะการดำเนินกิจการของธุรกิจ

2. อำนาจหน้าที่ในการจัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการสำมะโนโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 มาตรา 6 (4) กำหนดให้สำนักงานสถิติ แห่งชาติ มีอำนาจและหน้าที่จัดทำสำมะโนหรือการสำรวจตัวอย่างหรืออำนวยการให้มีการสำรวจด้านต่าง ๆ ของประเทศ

3. ความหมายสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม

สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม หมายถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะ ที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และอุตสาหกรรมการผลิตในสถานที่ตั้ง ที่แน่นอนทุกหน่วยภายในท้องที่ที่กำหนดทั่วประเทศ

4. ความเป็นมา

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำมะโนธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ และสำมะโน อุตสาหกรรมทุก 10 ปี ตามข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ประเทศมีข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญทางด้านธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และอุตสาหกรรมการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง โดยสำมะโนธุรกิจ ทางการค้าและธุรกิจทางการบริการได้จัดทำมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2509 2531 และ 2545 สำมะโนอุตสาหกรรมจัดทำมาแล้ว 3 ครั้ง เช่นกัน ในปี 2507 2540 และ 2550 สำหรับในปี 2555 จะครบรอบ 10 ปีการจัดทำสำมะโนธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ

สืบเนื่องมาจากปัจจุบันโครงสร้างด้านเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากตามที่กล่าวมาแล้ว ทำให้หน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศ คือ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค จึงขอให้สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมจากทุก 10 ปี เป็นจัดทำทุก 5 ปี ประกอบกับปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ได้มีการจัดทำสำมะโน ด้านเศรษฐกิจทุก 5 ปี

ดังนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้วางแผนปรับการจัดทำสำมะโนอุตสาหกรรม เป็นประจำ ทุก 5 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2555 โดยบูรณาการดำเนินการไปพร้อมกับการสำมะโนธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ ในปี 2555

5 . วัตถุประสงค์

โครงการสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ. ศ. 2555 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  • เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่แสดงให้เห็นโครงสร้าง และการกระจายตัวของสถาน -ประกอบการประเภทต่าง ๆ เช่น สถานประกอบการธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ อุตสาหกรรม การผลิต การก่อสร้าง การขนส่งทางบกสถานที่เก็บสินค้า และกิจกรรมด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร โรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น
  • เพื่อเก็บรวบรวมรายละเอียดการดำเนินงานของสถานประกอบการเกี่ยวกับจำนวนและขนาดของสถานประกอบการ ประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม จำนวนคนทำงาน ลูกจ้าง ค่าตอบแทนแรงงาน มูลค่าซื้อสินค้ามาจำหน่ายหรือให้บริการ ต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน มูลค่าขาย ผลผลิตและรายรับ ส่วนเปลี่ยนแปลงของวัตถุดิบและสินค้าคงเหลือ มูลค่าของสินทรัพย์ถาวรของสถานประกอบการ
6 . ประโยชน์ที่จะได้รับ

ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้ข้อมูลพื้นฐาน ทั้งในภาครัฐบาลและเอกชนที่สำคัญ ดังนี้

ภาครัฐ

1) ใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจด้านธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และอุตสาหกรรมการผลิตทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก

2) ใช้ในการจัดทำดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและภาวะการดำเนินกิจการ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวม ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของประเทศ สัดส่วนแรงงานในภาคการผลิต การบริการ เป็นต้น

3) ใช้ในการจัดทำแผนวิเคราะห์สถานการณ์ในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมของประเทศ

4) ใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและกำหนดทิศทางการประกอบธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่กำหนดไว้

5) เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อ สนับสนุน ธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ

6) ใช้ในการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการวางแผนเตือนภัยทางเศรษฐกิจและสังคม

7) ใช้ประโยชน์ในทางสถิติ เพื่อจัดทำกรอบตัวอย่าง สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก สถานประกอบการของหน่วยสถิติต่างๆ

ภาคเอกชน

1) ผู้ประกอบการใช้ ข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลการดำเนินกิจการ เป็นเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการวางแผนตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนขยายกิจการ/สาขา บริหารและควบคุมการดำเนินกิจการ ในด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2) ใช้ข้อมูลเป็นมาตรฐาน เพื่อเปรียบเทียบ (Benchmark) ผลการดำเนินงานตนกับกิจการอื่นๆ ในอุตสาหกรรม ประเภทเดียวกัน หรือขนาด ต่างๆ

3) สำหรับ นักวิชาการ นักวิจัย และสถาบันการศึกษา นำไปศึกษาวิเคราะห์ต่อยอด สร้างนวัตกรรม เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และ อุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่ในความสนใจ และเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

7 . ขอบข่ายและคุ้มรวม

1) การเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน : การนับจด (Listing)

สถานประกอบการทั่วประเทศ ที่ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552 ( Thailand Standard Industrial Classification: TSIC-2009) ดังนี้

  • ธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ
  • การผลิต
  • การก่อสร้าง
  • การขนส่งทางบก และสถานที่เก็บสินค้า
  • กิจกรรมด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
  • โรงพยาบาลเอกชน

ไม่รวม : แผงลอยในตลาด แผงลอยและหาบเร่ และแผงลอยในศูนย์การค้า

2) การเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียด : การแจงนับ (Enumeration)

สถานประกอบการทั่วประเทศ ที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับ ธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การบริการ และการผลิต

8. แผนการดำเนินงาน

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กำหนดแผนงานการจัดทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ . ศ. 255 5 ครอบคลุมแผนงานตั้งแต่ขั้นการวางผนเตรียมงานจนถึงการนำเสนอผลข้อมูลเป็นเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2554 – 2556 ดังนี้

ปี 2554  

1 ) ศึกษาค้นคว้าข้อมูลและข้อปัญหา พร้อมทั้งวางแผนการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน

2) วางแผนเตรียมงานเก็บรวบรวมข้อมูล

3) ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน สถานประกอบการทั่วประเทศ

4) ประมวลผลข้อมูลและนำเสนอผล โดยจัดทำรายงานข้อมูลพื้นฐาน : ระดับจังหวัด

ปี 2555  

1) ประมวลผลข้อมูลและนำเสนอผล โดยจัดทำรายงานข้อมูลพื้นฐาน : ระดับภาคและทั่วประเทศ

2) ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียด เฉพาะสถานประกอบการ ธุรกิจทางการค้า

ธุรกิจทางการบริการ และการผลิตทั่วประเทศ

ปี 2556  

1) ประมวลผลข้อมูลรายละเอียด ระดับจังหวัด ภาคและทั่วประเทศ

2) นำเสนอผล โดย จัดทำรายงาน ข้อมูลรายละเอียด ระดับจังหวัด ภาค ทั่วประเทศ

- ข้อมูลสถานประกอบการ ธุรกิจทางการค้า และธุรกิจทางการบริการ

- ข้อมูลสถานประกอบการการผลิต

9 . ระเบียบวิธีการทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ. ศ. 2555

เนื่องจากการจัดทำสำมะโนเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกหน่วยที่อยู่ในขอบข่าย (Complete Enumeration) ซึ่งต้องใช้งบประมาณ เวลา และผู้ปฏิบัติงานจำนวนมาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงกำหนดแผนการดำเนินงาน สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม พ. ศ. 255 5 โดยในขั้นตอนการนับจด (Listing) ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล พื้นฐานจากทุกสถานประกอบการทั่วประเทศ ส่วนขั้นตอนการแจงนับ (Enumeration) ได้มีการนำระเบียบ วิธีการสำรวจด้วยตัวอย่างมาใช้ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของสถานประกอบการ : การนับจด (Listing)

เป็นการเก็บรวบรวม ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของสถานประกอบการตามขอบข่ายคุ้มรวม ทั่วประเทศ เช่น ชื่อ สถานที่ตั้งของสถานประกอบการ หมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร รูปแบบการจัด ตั้ง ตามกฎหมาย/ ทางเศรษฐกิจ การร่วมลงทุนหรือถือหุ้นจากต่างประเทศ จำนวนคนทำงาน จำนวนลูกจ้าง เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 การเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียด : การแจงนับ (Enumeration)

เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียด เฉพาะของสถานประกอบการธุรกิจทางการค้า ธุรกิจทางการบริการ และการผลิต โดย สถานประกอบการที่มีคนทำงานมากกว่า 10 คน จะทำการเก็บ รวบรวมข้อมูลจากทุกสถานประกอบการ (Complete Enumeration) ส่วนสถานประกอบการ ที่มีคนทำงาน 1 - 10 คน (ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก) จะใช้วิธีการสำรวจด้วยตัวอย่าง (Sample Survey) สำหรับรายละเอียดข้อมูล ที่เก็บรวบรวม มีดังนี้

ธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ

  • ประเภทธุรกิจ และขนาดของสถานประกอบการ
  • จำนวนคนทำงาน ลูกจ้างและค่าตอบแทนแรงงาน
  • มูลค่าซื้อสินค้าเพื่อการจำหน่ายหรือให้บริการ
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
  • รายรับของสถานประกอบการ
  • สินค้าคงเหลือต้นปี และปลายปี
  • สินทรัพย์ถาวร

การผลิต

  • ประเภทอุตสาหกรรมการผลิต และขนาดของสถานประกอบการ
  • ชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ผลิต
  • จำนวนคนทำงาน ลูกจ้างและค่าตอบแทนแรงงาน
  • ต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
  • ผลผลิตและราย รับ
  • วัตถุดิบและสินค้าคงเหลือต้นปี และปลายปี
  • สินทรัพย์ถาวร
10 . วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

ใช้วิธีการส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานสถิติแห่งชาติออกไปทำการสัมภาษณ์ ผู้ประกอบการ หรือผู้แทนที่สถานประกอบการมอบหมายให้เป็นผู้ให้ข้อมูล

11. คาบเวลาการปฏิบัติงาน

1) ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน : การนับจด (Listing)

 

- การเก็บรวบรวมข้อมูล

มีนาคม – มิถุนายน 2554

 

- การประมวลผลและนำเสนอผลข้อมูลนับจด

ภายในมกราคม 2555

2) ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียด : การแจงนับ (Enumeration)

 

- การเก็บรวบรวมข้อมูล (รวมติดตาม)

พฤษภาคม- สิงหาคม 2555

 

- การประมวลผลและนำเสนอผลข้อมูลแจงนับ

 

 

  • สรุปข้อมูลเบื้องต้น

พฤษภาคม - กรกฎาคม 2556

 

  • ข้อมูลฉบับสมบูรณ์ระดับจังหวัดและประเทศ

พฤษภาคม - สิงหาคม 2556


12. การเสนอผลและจัดทำรายงานผล

การจัดทำรายงานผลสำมะโน

  • รายงานผลเบื้องต้น
  • รายงานผลระดับจังหวัด
  • รายงานผลระดับภาคและทั่วราชอาณาจักร จำนวน 7 ฉบับ ประกอบด้วยรายงานผล ของกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และทั่วราชอาณาจักร