ค้นหาแบบกำหนดเงื่อนไข
  โครงการสำรวจการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง พ.ศ. 2547  
 

แนวคิดและคำนิยาม

1) สถานประกอบการ หมายถึง สถานที่หรือส่วนของสถานที่ ที่ใช้ในการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางภายใต้การ ครอบครองหรือควบคุม
โดยเจ้าของคนเดียวหรือกลุ่มบุคคล ณ สถานที่ตั้งแห่งเดียว
การนับสถานประกอบการให้พิจารณา ดังนี้
     -กรณีที่มีการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางภายใต้การครอบครอง หรือควบคุมของเจ้าของคนเดียว หรือกลุ่มบุคคลเดียวกันแต่ที่ตั้งแยกกัน ให้นับรวมเป็นหนึ่งสถานประกอบการ
     -กรณีที่สถานประกอบการ ดำเนินกิจการโดยเจ้าของหลายคน หรือกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มในสถานที่เดียวกัน หรือในบ้านเลขที่เดียวกัน ให้นับแต่ละเจ้าของ หรือกลุ่มบุคคลเป็นหนึ่งสถานประกอบการ

2) ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่ดำเนินการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ได้แก่ ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ และ/หรือ
ผู้ประกอบการรถร่วม

3) ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ หมายถึง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ในเส้นทางซึ่งกำหนดโดยกรมการขนส่งทางบก โดยผู้ได้รับ
ใบอนุญาตฯ จะมีรถของตนเองวิ่งในเส้นทางนั้นหรือไม่ก็ตาม

4) ผู้ประกอบการรถร่วม
หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลไม่ว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดก็ตาม นำรถยนต์โดยสารของตนไปขอร่วมวิ่งในเส้นทางเดินรถ
ซึ่งผู้อื่นเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีข้อตกลงในการวิ่งร่วมเป็นอย่างไรก็ตาม

5) รูปแบบการจัดตั้งตามกฎหมาย จำแนกออกเป็น 6 ประเภท คือ
     -ส่วนบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่เป็นนิติบุคคล หมายถึง สถานประกอบการที่มีเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียว หรือหลายคนรวมกันและให้หมายรวมถึง
ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลด้วย
     -ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หมายถึง สถานประกอบการที่จัดตั้งขึ้นโดยมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป รวมทุนกันเพื่อประกอบธุรกิจ
และมีความรับผิดชอบร่วมกันโดยจดทะเบียนตามกฎหมาย
     -บริษัท จำกัด หมายถึง สถานประกอบการที่จัดตั้งขึ้น โดยผู้ริเริ่มคณะหนึ่ง และได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องมีผู้ริเริ่มก่อการอย่างน้อย 7 คนขึ้นไป
     -ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ หมายถึง สถานประกอบการที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ หรือมีทุนอยู่ด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด
     -สหกรณ หมายถึง สถานประกอบการที่จัดตั้งขึ้นในรูปสหกรณ์ โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วย สหกรณ์ โดยมีผู้ก่อตั้งไม่น้อยกว่า 10 คน ์
     -อื่นๆ หมายถึง สถานประกอบการที่จัดตั้งในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว เช่น จัดตั้งในรูปสมาคม หรือสโมสร ซึ่งจะต้องจดทะเบียนก่อตั้ง
โดยมีผู้ก่อตั้งอย่างน้อย 3 คน

6) รถโดยสารประจำทาง หมายถึง รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารเพื่อสินจ้าง ตามเส้นทางที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก กำหนดขึ้น

7) รถโดยสารประจำทาง หมวด 2 หมายถึง รถโดยสารที่วิ่งประจำอยู่ในเส้นทาง ที่มีจุดเริ่มต้นจากสถานีขนส่งในกรุงเทพมหานครและไปสุดเส้นทาง
ในจังหวัดต่างๆ ในส่วนภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ เป็นต้น

8) รถโดยสารประจำทาง หมวด 3 หมายถึง รถโดยสารที่วิ่งประจำอยู่ในเส้นทาง ที่มีจุดเริ่มต้นในจังหวัดหนึ่งและไปสุดเส้นทางในอีกจังหวัดหนึ่งในส่วนภูมิภาค
ระหว่างเส้นทางอาจผ่านเขตจังหวัดต่างๆ จังหวัดเดียว หรือหลายจังหวัดก็ได้ เช่น นครราชสีมา-อุดรฯ สระบุรี- หล่มสัก เชียงใหม่-ตาก เป็นต้น

9) รถโดยสารประจำทาง หมวด 4 หมายถึง รถโดยสารที่วิ่งประจำอยู่ในเส้นทาง ที่มีจุดต้นทางและปลายทางอยู่ระหว่างอำเภอกับจังหวัดหรือระหว่างอำเภอ
กับอำเภอ และอยู่ภายในเขตจังหวัด เช่น อุบลราชธานี-เขมราฐ ปราจีนบุรี-กบินทร์บุรี หาดใหญ่-สงขลา เป็นต้น

10) มาตรฐานรถ หมายถึง ลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารตามกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) คือ
      -มาตรฐาน 1 หมายถึง รถปรับอากาศพิเศษ รวมถึงรถชั้นครึ่ง และรถสองชั้นปรับอากาศพิเศษ ซึ่งไม่มี ที่ยืน มีที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่ม มีอุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์ มีห้องสุขภัณฑ์และที่เก็บสัมภาระ
     -มาตรฐาน 2 หมายถึง รถปรับอากาศที่มีที่นั่งผู้โดยสารเกิน 30 ที่นั่ง มีที่ยืนหรือไม่มีก็ได้ ที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มมีหรือไม่มีก็ได้ ที่เก็บสัมภาระ อุปกรณ์ให้เสียงและประชาสัมพันธ์มีหรือไม่มีก็ได้ ห้องสุขภัณฑ์ไม่มี รวมถึงรถตู้ปรับอากาศด้วย
     -มาตรฐาน 3 แบ่งออกเป็น 2 มาตรฐานย่อย ดังนี้
         มาตรฐาน 3 (ธ) หมายถึง รถธรรมดาที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ มีที่นั่งผู้โดยสารเกิน 30 ที่นั่ง มี ที่ยืนหรือไม่มีก็ได้ ที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มไม่มี ห้องสุขภัณฑ์ไม่มี ที่เก็บสัมภาระมีหรือไม่มีก็ได้ กรณีนี้ให้รวมถึงรถตู้ ไม่ปรับอากาศด้วย
         มาตรฐาน 3 (ส) หมายถึง รถที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ลักษณะรถเป็นรถสองแถว ที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่มไม่มี ห้องสุขภัณฑ์และที่เก็บสัมภาระไม่มี

11) เที่ยวการเดินรถ หมายถึง การเดินรถโดยสารตั้งแต่จุดต้นทางไปจนถึงปลายทาง เรียกว่า "ขาไป" และการเดินรถโดยสารซึ่งตั้งต้นจากปลายทางถึงต้นทาง
เรียกว่า "ขากลับ" ทั้งนี้แต่ละขา หมายถึง 1 เที่ยว ไม่ว่าจะเป็นขาไป หรือขากลับ

12) จำนวนวันทำการเดินรถในรอบปี 2546 หมายถึง จำนวนวันของรถโดยสารที่ถูกใช้ปฏิบัติการขนส่งในปี 2546

13) รายรับจากค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเดือน หมายถึง รายรับจากค่าโดยสารในการเดินรถในเส้นทางที่ได้รับใบอนุญาตฯ เฉลี่ยต่อเดือน รวมทั้งรายรับจาก
ค่าโดยสารที่ได้จากการนำรถไปร่วมวิ่งกับผู้ประกอบการอื่นเฉลี่ยต่อเดือน

14) รายรับโดยเฉลี่ยต่อเดือนที่เก็บจากผู้ประกอบการรถร่วมทุกราย หมายถึง รายรับโดยเฉลี่ยที่ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เก็บจากผู้ที่นำรถมาวิ่งร่วม
ทุกราย ในเส้นทางที่ได้รับใบอนุญาตฯ โดยเฉลี่ยต่อเดือน

15) รายรับจากการดำเนินงาน หมายถึง รายได้ต่างๆ ที่ได้จากการดำเนินธุรกิจการบริการ หรือกำไรจากการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง
ของผู้ประกอบการ ที่นอกเหนือจากรายรับที่เก็บจากค่าโดยสารโดยตรง แบ่งเป็นรายได้จากการเดินรถและรายได้อื่นๆ
     -รายได้จากการเดินรถ ประกอบด้วย ค่าระวางสัมภาระ ค่าจ้างเหมาขนส่ง ค่าธรรมเนียมสัญญารถร่วม สิทธิการเข้าร่วม ค่าขายตั๋วรถร่วม ค่าบำรุงรถร่วม
     -รายได้อื่นๆ ประกอบด้วย รายได้จากค่าเช่ารถโดยสาร จากการให้เช่าที่ดิน อาคาร สถานที่ รายได้เบ็ดเตล็ด ค่าโทรศัพท์สาธารณะ ค่าหนี้สูญรับคืน รายได้ค่าโฆษณา จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม กำไรจากการขายทรัพย์สินจากสถานีบริการ

16) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยางรถยนต์ หมายถึง เงินที่จ่ายในการซื้อยาง ทั้งยางนอกและยางใน ไม่ว่าจะเป็นยางใหม่ ยางเปอร์เซ็นต์ ยางหล่อดอกหรืออัดดอก
รวมทั้งค่าจ้างหล่อดอก/อัดดอก และปะยาง เฉพาะที่ใช้กับรถโดยสารประจำทางเท่านั้น
     -ยางใหม่ คือ ยางรถยนต์ที่ยังไม่เคยถูกใช้งานมาก่อน
     -ยางเปอร์เซ็นต์ คือ ยางรถยนต์ที่ถูกใช้งานมาบ้างแล้ว และยังอยู่ในสภาพที่สามารถนำมาใช้ได้อีก ราคาจะถูกกว่ายางใหม่
     -ยางหล่อดอก คือ ยางรถยนต์ที่นำเอาโครงยางเก่าที่ดอกยางสึกหรือใช้แล้ว จนไม่อยู่ในสภาพที่ควรจะนำมาใช้งานตามปกติ มาทำการหล่อดอกยางเข้าไปใหม่ เพื่อนำมาใช้งานต่อ
     -ยางใน คือ ยางเส้นที่ใช้อยู่ในโครงของยางนอก ซึ่งทำหน้าที่อุ้มลมไว้เพื่อรับน้ำหนัก

17) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับแบตเตอรี่ หมายถึง เงินที่จ่ายเพื่อซื้อแบตเตอรี่ ซึ่งนำมาใช้กับรถยนต์โดยสารประจำทางและเพื่อการชาร์จหรือซ่อมแบตเตอรี่
ี่ ที่ใช้ประจำอยู่กับรถยนต์โดยสารประจำทางนั้น ให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ต่อไป นอกจากนั้นให้นับรวมค่าน้ำกลั่น ไว้ในค่าใช้จ่ายประเภทนี้ด้วย

18) ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง หมายถึง เงินที่จ่ายสำหรับเป็นค่าเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล แก๊สหรือก๊าซหรืออื่นๆสำหรับใช้กับรถโดยสารประจำทาง
ที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในเส้นทางต่างๆ

19) ค่าน้ำมันหล่อลื่น หมายถึง เงินที่จ่ายเป็นค่าน้ำมันหล่อลื่นประเภทต่างๆ เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก น้ำมันเกียร์ คลัชท์หรือ จารบี ฯลฯ
์ สำหรับใช้กับรถโดยสารประจำทาง

20) ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถ หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อจ้างให้บุคคลอื่น (ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ห้างร้าน หรือบุคคลธรรมดา)ทำการซ่อมแซมส่วนต่างๆ
ของรถยนต์ที่นำไปวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร เช่น ค่าใช้จ่ายในการซ่อมเครื่องยนต์ เบรค คลัชท์ อะไหล่ต่างๆ และค่าใช้จ่ายในการเคาะ พ่นสี ปะผุตัวถังรถ รวมทั้งค่าซ่อมบำรุงรักษา เติมน้ำยาเครื่องปรับอากาศในรถยนต์โดยสาร
     -การยกเครื่องหรือเปลี่ยนเครื่อง ค่าทำตัวถังและสีใหม่ทั้งคัน หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนอะไหล่ที่จำเป็น ซึ่งหมดอายุการใช้งานแล้ว ค่าทำตัวถังและสีใหม่ทั้งคัน หรือการนำเอาเครื่องยนต์ใหม่ใส่แทนที่เครื่องยนต์เก่าทั้งเครื่อง ซึ่งได้ใช้งานมาจนหมดสภาพ ไม่สามารถนำมาซ่อมแซมได้ต่อไปอีก อนึ่ง เครื่องยนต์โดยทั่วไปนั้น จะมีอายุการใช้งาน ประมาณ 7-8 ปี ก็จะไม่สามารถนำมาซ่อมแซมใช้ได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม อายุการใช้งานของเครื่องยนต์จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาของผู้ครอบครอง
     -การยกเครื่องหรือเปลี่ยนเครื่อง ค่าทำตัวถังและสีใหม่ทั้งคัน จึงจัดเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม เพื่อยืดอายุการใช้งาน ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

21) ค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง หมายถึง เงินที่จ่ายสำหรับซื้ออะไหล่ เครื่องใช้ประจำรถยนต์เล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ประกอบการซื้อมาเปลี่ยนเองหรือให้ผู้อื่นทำให้้ ส่วนใหญ่จะเป็นอะไหล่หรือเครื่องใช้ที่มีอายุการใช้งานไม่ถึงปี เช่น ไส้กรองน้ำมันเครื่อง ไส้กรองอากาศ สายพาน หลอดไฟ เป็นต้น

22) ค่าใช้จ่ายสำนักงาน หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจหรือการบริหารงาน ในการประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสาร ประจำทางของผู้ประกอบการ
นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยางรถยนต์ แบตเตอรี่ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถ ค่ายกเครื่อง/เปลี่ยนเครื่อง และค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง
     -ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ประกอบด้วยรายการต่างๆ อาทิเช่น ค่าเครื่องใช้สำนักงาน ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าติดต่อสื่อสาร ค่าบริการทางธุรกิจ ค่าเช่าที่ดิน/อาคาร รวมทั้งค่าธรรมเนียม ค่าภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

23) ค่าดอกเบี้ย หมายถึง ค่าดอกเบี้ยที่จ่ายเฉพาะเป็นค่าตอบแทนเงิน ซึ่งกู้มาเพื่อใช้ในธุรกิจการประกอบการขนส่ง โดยสารประจำทางเท่านั้น
ทั้งที่กู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน และนอกสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ไม่รวมดอกเบี้ยในการผ่อนชำระค่ารถ
    -แหล่งเงินกู้ ประกอบด้วย
        สถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร ทรัสต์ ฯลฯ
        นอกสถาบันการเงิน เช่น จากนายทุนเงินกู้ ญาติ พี่น้อง ฯลฯ

24) ค่าพิมพ์ตั๋วหรือซื้อตั๋วโดยสาร หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการซื้อ หรือจ้างพิมพ์ตั๋วโดยสาร เพื่อใช้สำหรับออกตั๋วให้แก่ผู้โดยสารตามอัตราค่าโดยสาร

25) ค่าธรรมเนียมและค่าภาษี หมายถึง เงินที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้กับรัฐ ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ หรือผู้ประกอบการอื่น เช่น ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี
ค่าภาษีที่ดินและโรงเรือน ค่าภาษีบำรุงท้องที่ (เฉพาะที่ดินและโรงเรือน ส่วนที่ผู้ประกอบการใช้เป็นที่ประกอบธุรกิจ เท่านั้น) ค่าธรรมเนียมต่อสัญญารถร่วม ค่าใบอนุญาตประกอบการ (เฉพาะผู้ได้รับใบอนุญาตฯ) และอื่นๆ
     -ภาษีรถยนต์ประจำปี หมายถึง ภาษีรถยนต์โดยสารที่ผู้เป็นเจ้าของรถต้องจ่ายเป็นประจำทุกปี ให้กับกรมการขนส่งทางบก หรือสำนักงานขนส่งจังหวัด เพื่อให้เป็นรถโดยสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย
     -ค่าเข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสาร หมายถึง เงินค่าบริการที่ผู้ประกอบการ ต้องชำระเป็นค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการสถานีขนส่งแก่นายสถานีขนส่งทุกครั้ง เมื่อเดินรถตามตารางเดินรถออกจากสถานีขนส่งฯ ต้นทาง และ/หรือเมื่อ รถโดยสารผ่านสถานีขนส่งฯ ระหว่างเส้นทางเดินรถตามที่ได้รับอนุญาตฯ
     -ค่าวิน หมายถึง เงินที่ผู้ประกอบการรถร่วมจะต้องจ่ายให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ทุกครั้งที่เดินรถตามตารางเดินรถ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตฯ เป็นผู้จัดให้
     -ค่าธรรมเนียมต่อสัญญารถร่วม หมายถึง ค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบการรถร่วม ซึ่งประสงค์จะประกอบ กิจการเดินรถโดยสารประจำทางในเส้นทางต่างๆ ต้องจ่ายเป็นค่าต่อสัญญา ในการขอนำรถมาวิ่งร่วมกับผู้ได้รับใบอนุญาตฯ เมื่อสัญญาที่ทำไว้หมดอายุลง
     -ค่าสิทธิการเข้าร่วมเดินรถ หมายถึง เงินค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบการรถร่วม ซึ่งประสงค์จะประกอบ กิจการเดินรถโดยสารประจำทางในเส้นทางต่างๆ ต้องจ่ายเมื่อแรกเข้าในการทำสัญญา เพื่อขอนำรถมาวิ่งร่วม ในการจ่ายค่าบำรุงนี้จะจ่ายเพียงครั้งเดียวหรือผ่อนชำระเป็นงวดๆ ก็ได้

26) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ หมายถึง รายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการ นอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในข้ออื่นๆ

27) จำนวนพนักงาน หมายถึง จำนวนพนักงานที่รับเงินเดือนประจำ หรือค่าจ้างรายวัน หรือได้รับเป็นค่าตอบแทนอื่นๆ โดยจำแนกประเภทของพนักงานออกเป็น
4 ประเภท คือ
     -เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน หมายถึง บุคคลที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการโดยได้รับเงินเดือนหรือ ค่าจ้างเป็นประจำ ได้แก่ เจ้าหน้าที่บริหาร พนักงานเสมียน หรืออี่นๆ
     -เจ้าหน้าที่ประจำรถ หมายถึง บุคคลที่ผู้ประกอบการจ้างมาเพื่อทำงานประจำรถ ได้แก่ คนขับรถ พนักงานติดรถ เป็นต้น โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน และ/หรือเงินเปอร์เซ็นต์จากรายได้ นอกจากนี้ยังอาจได้รับค่า เบี้ยเลี้ยง และค่าตอบแทนอื่นๆ อีกด้วย
     -ช่างเครื่องยนต์และพนักงานซ่อมรถ หมายถึง บุคคลที่ผู้ประกอบการจ้างมา เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจซ่อมเครื่องยนต์ของรถที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง
     -เจ้าหน้าที่อื่นๆ หมายถึง บุคคลที่ผู้ประกอบการจ้างมาเพื่อทำหน้าที่อื่นๆ นอกเหนือจากข้อ 1 ถึงข้อ 3 ได้แก่ นายตรวจ ผู้ปล่อยรถ (จัดคิว) ผู้จับเวลา นายท่า เป็นต้น

28) ค่าตอบแทนแรงงาน หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการจ่ายให้แก่พนักงาน เป็นค่าตอบแทนในการทำงาน ซึ่งประกอบด้วยรายการอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
     -ค่าเบี้ยประชุม หมายถึง เงินที่นายจ้างหรือสถานประกอบการ จ่ายให้กรรมการที่เป็นลูกจ้าง (พนักงาน) ของสถานประกอบการ ในระหว่างเดือนมกราคม - ธันวาคม 2546 เมื่อมีการประชุมเกิดขึ้น (ไม่รวมเบี้ยประชุมที่จ่ายให้กรรมการซึ่งไม่ได้รับเงินเดือนจากสถานประกอบการ ให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ)
     -ค่าจ้าง/เงินเดือน หมายถึง เงินที่นายจ้างหรือสถานประกอบการ จ่ายให้ลูกจ้างในระหว่างเดือนมกราคม - ธันวาคม 2546 (ก่อนหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนที่ลูกจ้างต้องจ่าย ค่าประกันชีวิต และรายจ่ายอื่นๆ ของลูกจ้าง) ตามข้อตกลงการจ้างแรงงานโดยอาจจ่ายตามเงื่อนของ ระยะเวลา หรือจ่ายตามปริมาณงาน ทั้งนี้ ไม่รวมเบี้ยเลี้ยง เงินเปอร์เซนต์จากรายได้ ค่าตอบแทนอื่นๆ และสวัสดิการ
     -เบี้ยเลี้ยง หมายถึง เงินที่จ่ายเป็นรายวันให้พิเศษนอกเหนือจากค่าจ้าง/เงินเดือน
     -เงินเปอร์เซ็นต์จากรายได้ หมายถึง เงินที่จ่ายให้ตามสัดส่วนจากยอดเงิน ค่าโดยสารรวมค่าระวางสิ่งของ (ถ้ามี) ที่เก็บได้
     -ค่าตอบแทนอื่นๆ และสวัสดิการ เช่น ค่าอาหาร ที่พัก เครื่องแต่งกาย โบนัส ค่าล่วงเวลา ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล ค่าเบี้ยประกันชีวิตพนักงาน และสวัสดิการอื่นๆ ที่พนักงานได้รับเป็นต้น

29) สินทรัพย์ถาวร หมายถึง สินทรัพย์คงทนที่ผู้ประกอบการหรือหน่วยธุรกิจจัดหา จัดสร้าง หรือซื้อมาเพื่อใช้ในขบวนการผลิต สินค้าและให้บริการ
ไม่รวมสินทรัพย์ที่ใช้ส่วนตัวและที่ใช้ในครัวเรือน (หากแยกไม่ได้ให้ดูวัตถุประสงค์หลักของการใช้งานเป็นสำคัญ)สินทรัพย์ถาวรเหล่านี้โดยทั่วไปจะต้องมีอายุ ใช้งานมากกว่า 1 ปี และมีมูลค่าสูงพอสมควร (มากกว่า 1,500 บาท) ซึ่ง มูลค่าในที่นี้รวมค่าขนส่ง ค่าติดตั้งเพื่อให้สินทรัพย์นั้นใช้งานได้

30) ค่าเสื่อมราคา หมายถึง มูลค่าที่เสื่อมสิ้นไปของสินทรัพย์ถาวร ตามระยะเวลาการใช้งานในงวดบัญชี ปี 2546 โดยใช้หลักการบัญชีที่ผู้ประกอบการจัดทำขึ้น
ีประจำปี 2546 หากผู้ประกอบการไม่ได้จัดทำบัญชีไว้ ให้นำมูลค่าสินทรัพย์ที่ซื้อมา หารด้วยอายุการใช้งานที่คาดหมาย

31) สิ่งก่อสร้าง ได้แก่ อาคารสำนักงาน อาคารโรงงาน อาคารคลังสินค้า อาคารโรงเก็บยานพาหนะ เป็นต้น ซึ่งมูลค่าของ สิ่งก่อสร้าง หมายถึง มูลค่าของ
การก่อสร้างซึ่งเริ่มตั้งแต่การออกแบบ การปรับพื้นที่ การวางรากฐานโครงสร้างอาคาร จนถึง ค่าตกแต่งทาสี ตกแต่งภายในและส่วนตกแต่งชนิดที่ติดถาวรกับอาคาร แต่ไม่รวมค่าที่ดินและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

32) เครื่องมือเครื่องใช้ ได้แก่ เครื่องมือซ่อม และบำรุงยานพาหนะ และเครื่องใช้สำนักงาน เช่น แอร์ ตู้เย็น พิมพ์ดีด เครื่องถ่ายเอกสาร โต๊ะ เก้าอี้
ตู้เอกสาร เป็นต้น

33) ยานพาหนะ ได้แก่ ยานพาหนะทุกชนิด เช่น รถบรรทุก รถโดยสาร รถยนต์นั่ง (เฉพาะที่ใช้ในกิจการ)

34) อายุการใช้งานที่คาดหมาย หมายถึง ช่วงเวลาที่สินทรัพย์ สามารถให้ผลผลิต หรือนำมาให้บริการได้ โดยทั่วไป รถยนต์โดยสารที่ให้บริการมีอยู่ทั้งรถเก่า
และใหม่ ถ้าเคยทำการเปลี่ยนเครื่อง หรือยกเครื่องแล้ว ถือว่ารถยนต์คันนั้นสิ้นสุดอายุการใช้งานเพียงระยะเวลานั้นหลังจากนั้นจะต้องเริ่มคิดอายุการใช้งานของรถ คันนั้นใหม่ การนับอายุการใช้งานสรุปได้ ดังนี้
     -ในกรณีที่รถคันนั้นไม่เคยยกเครื่อง หรือเปลี่ยนเครื่องเลย ให้เริ่มนับอายุการใช้งานตั้งแต่ซื้อมาครั้งแรก จนกระทั่งถึงเวลาที่คาดว่าจะไม่สามารถนำรถออกวิ่งไปได้
     -ถ้ารถคันนั้นได้ทำการยกเครื่อง หรือเปลี่ยนเครื่องแล้ว ให้เริ่มนับอายุการใช้งานตั้งแต่เมื่อมีการยกเครื่อง หรือเปลี่ยนเครื่องครั้งหลังสุด จนถึงเวลาที่คาดว่าจะไม่สามารถนำรถไปใช้ได้ต่อไป