ค้นหาแบบกำหนดเงื่อนไข
  ข้อมูลโครงการสำรวจการประกอบกิจการโรงแรมและเกสต์เฮาส์ 2545  
 
8) ค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการ
หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของสถานประกอบการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2544 โดยแยกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
ก. ค่าจ้าง เงินเดือน หมายถึง เงินที่นายจ้างหรือสถานประกอบการจ่ายให้ลูกจ้าง ในระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2544 ตามข้อตกลงการจ้างแรงงาน โดยอาจจ่ายตามเงื่อนไขของระยะเวลา หรือจ่ายตามปริมาณงาน
ข. ค่าบริการ เบี้ยเลี้ยง โบนัส ค่าล่วงเวลา หมายถึง เงินนอกเหนือจากค่าจ้างเงินเดือนที่สถานประกอบการจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เป็นค่าตอบแทนในการทำงาน
ค. เงินสมทบกองทุนเงินทดแทน หมายถึง เงินที่สถานประกอบการจ่ายสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน สำหรับจ่ายให้ลูกจ้าง เป็นการทดแทนที่ประสบอันตรายจากการทำงาน หรือเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามสภาพของงาน ตามที่กฎหมายได้กำหนดชนิดของโรคไว้
ง. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม หมายถึง เงินที่สถานประกอบการจ่ายสมทบเข้ากองทุนการประกันสังคม เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร พิการ ตาย หรือเมื่อออกจากงาน
จ. ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าไปรษณีย์โทรเลข ฯลฯ
ฉ. ค่าใช้จ่ายสำนักงาน เช่น ค่าเช่า ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าโฆษณา ค่านายหน้าจ่าย ค่ารับรอง ค่าเครื่องเขียนและแบบพิมพ์ ค่าวารสารหรือหนังสือพิมพ์ ค่าสิ่งของสิ้นเปลือง เช่น กระดาษชำระ น้ำยาดับกลิ่น ฯลฯ นอกจากนี้ยังรวมถึงค่าเชื้อเพลิงและค่าพาหนะด้วย
ช. ค่าเครื่องใช้ที่ทำด้วยผ้า หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยผ้าทุกชนิดซึ่งนำมาใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ ที่นอน หมอน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่มนอน ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
ซ. ค่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ ได้แก่ สบู่ น้ำยาขัดพื้น น้ำยาซักผ้า น้ำยาขัดห้องน้ำ ตลอดจนสเปรย์ดับกลิ่น (Air refresher) และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด
ฌ. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หมายถึง ค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้แก่นายทะเบียนโรงแรมประจำท้องที่ เพื่อต่ออายุใบอนุญาตดำเนินกิจการ ปัจจุบันนายทะเบียนโรงแรมที่ตั้งอยู่ตามต่างจังหวัด คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ( ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ) ส่วนในเขตกรุงเทพมหานคร คือ นายทะเบียนโรงแรมกรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ญ. ค่าภาษีอื่น ๆ ( ไม่รวมภาษีเงินได้นิติบุคคล ) หมายถึง เงินภาษีที่เกิดขึ้นในการจัดซื้อหรือประกอบธุรกิจ เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย ฯลฯ

9) รายรับในการดำเนินกิจการ
หมายถึง รายรับในการดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2544 ได้แก่ รายรับจากการขายห้องพัก รายรับจากค่าอาหารและเครื่องดื่ม รายรับจากการใช้ห้องประชุม เป็นต้น

10) สินทรัพย์ถาวร
หมายถึง สินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เช่น ที่ดิน อาคาร สิ่งก่อสร้าง เครื่องจักร ยานพาหนะ เป็นต้น รวมถึงส่วนเพิ่มเติม ดัดแปลง ปรับปรุง เพื่อยืดอายุการใช้งาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพ
สินทรัพย์ถาวร แบ่งออกเป็น
     •  ที่ดิน
     •  อาคาร และสิ่งก่อสร้าง
     •  เครื่องจักรและอุปกรณ์ ฯลฯ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องมือที่ใช้ในงานโลหะ หรือเหมืองแร่ เครื่องมือก่อสร้าง เครื่องมือที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น รถเครน เครื่องยกและอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน
     •  เครื่องใช้สำนักงาน ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งสำนักงาน เป็นต้น
     •  ยานพาหนะ ได้แก่ รถยนต์ รถแทรกเตอร์ รถเข็น เป็นต้น
     •  ซอฟต์แวร์ ได้แก่ โปรแกรมสำเร็จรูปต่าง ๆ โปรแกรมสำหรับการจัดทำบัญชี เป็นต้น
     •  สินทรัพย์ถาวรอื่น ๆ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ฯลฯ

11) ค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ถาวร
หมายถึง มูลค่าที่เสื่อมสิ้นไปของสินทรัพย์ถาวรตามระยะเวลาการใช้งานในงวดบัญชีปี 2544

12) มูลค่าซื้อสินทรัพย์ถาวร ประกอบด้วย
•  มูลค่าซื้อสินทรัพย์ถาวรใหม่ หรือผลิตขึ้นใช้เองระหว่างปี หมายถึง มูลค่าซื้อสินทรัพย์ถาวรที่ยังไม่เคยใช้งานในประเทศมาก่อน ซื้อมาเพิ่มเติมระหว่างเดือนมกราคม – เดือนธันวาคม 2544 สินทรัพย์ถาวรที่เพิ่งนำเข้ามาในประเทศ จะถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวรใหม่ ไม่ว่าจะผ่านการใช้งานมาแล้วหรือไม่ก็ตาม และรวมถึง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ในการสร้างหรือผลิตสินทรัพย์ถาวรขึ้นเพื่อใช้งานในสถานประกอบการ และที่ใช้ในการซ่อมแซมใหญ่ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือยืดอายุการใช้งานของสินทรัพย์ถาวรนั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้แก่ ค่าแรงงาน ค่าวัสดุ เป็นต้น
•  มูลค่าซื้อสินทรัพย์ถาวรที่ใช้แล้วระหว่างปี หมายถึง มูลค่าตามความเป็นจริงที่ได้ซื้อสินทรัพย์ถาวร ซึ่งเคยถูกใช้ภายในประเทศมาแล้ว ก่อนที่สถานประกอบการจะซื้อมาในช่วงเดือนมกราคม – เดือนธันวาคม 2544

13) มูลค่าขายสินทรัพย์ถาวรที่ใช้แล้วระหว่างปี
หมายถึง มูลค่าตามราคาขายสินทรัพย์ถาวรที่ขายไประหว่างเดือนมกราคม – เดือนธันวาคม 2544 รวมถึงมูลค่าสินทรัพย์ถาวรที่ใช้แล้ว และได้นำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ใหม่ โดยการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นให้ถือว่าราคาสินทรัพย์เดิม คือมูลค่าขายสินทรัพย์ถาวรที่ใช้แล้ว และราคาสินทรัพย์เดิมบวกจำนวนเงินที่จ่ายเพิ่มเป็นมูลค่าซื้อสินทรัพย์ถาวรที่สถานประกอบการซื้อมาเพิ่ม

14) ค่าโอนกรรมสิทธิ์
หมายถึง มูลค่าของค่าใช้จ่ายในการโอนสิทธิครอบครองสินทรัพย์ ระหว่าง เจ้าของสินทรัพย์นั้นให้กับบุคคลอื่น

15) มูลค่าสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลง
คำนวณโดย : มูลค่าซื้อสินทรัพย์ถาวร
         บวก   ค่าโอนกรรมสิทธิ์
           หัก   มูลค่าขายสินทรัพย์ถาวร

< ย้อนหลัง