ค้นหาแบบกำหนดเงื่อนไข
โครงการสำรวจการตอบแทนภาคเอกชน
ความเป็นมาและวัตถุประสงค์

การกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสม สอดคล้องกับอัตราตลาดเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ในการรักษาและเพิ่มขีดสมรรถภาพในการแข่งขันของสถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจค่าตอบแทนในตลาดมีน้อยและจำกัด บ้างครอบคลุมเฉพาะบริษัทข้ามชาติ บ้างครอบคลุมเฉพาะสถานประกอบการ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังขาดข้อข้อมูลการสำรวจค่าตอบแทนภาคเอกชน ในระดับชาติที่ครอบคลุมทุกพื้นที่และครอบคลุมอุตสาหกรรมที่หลากหลาย

คณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) ซึ่งรับผิดชอบเสนอแนะและให้คำปรึกษา แก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับค่าตอบแทนภาครัฐ เล็งเห็นความจำเป็นของการมีข้อมูลค่าตอบแทนของสถานประกอบการในประเทศ จึงได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ กงช. ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจค่าตอบแทนภาคเอกชนทุก 2 ปี โดยครอบคลุมสถานประกอบการอุตสาหกรรมและธุรกิจทั่วประเทศ เพื่อนำข้อมูลสถิติไปใช้กำหนดนโยบายค่าตอบแทนของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจและภาคราชการ ให้เหมาะสม เป็นธรรม อันเป็นทางหนึ่งที่จะส่งเสริมศักยภาพการแขช่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก การสำรวจดังกล่าวเริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 และการสำรวจในปี พ.ศ. 2541 นับเป็นครั้งที่ 2


เพื่อรวบรวมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับค่าตอบแทน ที่พนักงานประจำผู้ซึ่งมีวุฒิ ปวช. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรีและปริญญาโท ได้รับจากสถานประกอบการในภาคเอกชน เพื่อศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้าง และอัตราค่าตอบแทนระหว่างภาคเอกชนและภาคราชการ


คุ้มรวม
การสำรวจครั้งนี้ คุ้มรวมสถานประกอบการในภาคเอกชนทั่วประเทศ ที่มีพนักงานประะจำ ตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ซึ่งประกอบกิจการในสาขาต่าง ๆ 7 ประเภท ดังต่อไปนี้ คือ
  1. การผลิต
  2. การไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา
  3. การก่อสร้าง
  4. การขายส่ง การขายปลีก และโรงแรม
  5. การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้าและการคมนาคม
  6. บริการการเงิน การประกันภัย อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจ
  7. บริการชุมชน บริการสังคม และบริการส่วนบุคคล (ไม่รวมสถานพยาบาลและสถานศึกษา)
นิยาม คำนิยามที่สำคัญที่ใช้ในการสำรวจ มีดังนี้
- สถานประกอบการ หมายถึง สถานที่หรือบางส่วนของสถานที่ที่ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ในที่ตั้งที่แน่นอน ไม่ว่ากิจกรรมนั้น จะดำเนินงานโดยบุคคลที่เป็นเจ้าของ หรือควบุคมกิจการโดยนิติบุคคลก็ตาม
- พนักงานประจำ หมายถึง พนักงานหรือลูกจ้างทุกระดับตำแหน่ง ที่สถานประกอบการจ้างให้ทำงานเป็นประจำและเต็มเวลา โดยได้รับเงินหรือค่าจ้าง สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ เป็นการตอบแทนการทำงาน
- สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล หมายถึง การที่สถานประกอบการ จัดให้มีสวัสดิการเพื่อส่งเสริม หรือรักษาสุขภาพอนามัยของพนักงาน และหรือ สมาชิกในครอบครัว โดยสถานประกอบการออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้ทั้งหมด หรือบางส่วน หรือสถานประกอบการออกค่าใช้จ่าย ในการประกันสุขภาพให้แก่พนักงานประจำเป็นต้น
- ประกันสังคม หมายถึง การประกันที่พระราชบัญญัติประกันสังคมบังคับใช้กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 10 คน ขึ้นไป ซึ่งสถานประกอบการ ตัวพนักงาน และรัฐจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราเท่า ๆ กัน เป็นประจำทุกเดือน
- ประกันสุขภาพ หมายถึง การที่สถานประกอบการเลือกใช้บริการของบริษัทประกันภัย ในส่วนของรักษาพยาบาลของพนักงานประจำ โดยสถานประกอบการ และ/หรือ พนักงานประจำจ่ายค่าเบื้ยประกันให้กับบริษัทประกันภัย และได้รับวงเงินคุ้มครองกรณีเเจ็บป่วย
- พนักงานใหม่ หมายถึง พนักงานประจำซึ่งเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2540 และเป็นผู้พ้นทดลองงานแล้ว ซึ่งมีคุณสมบัติ ดังนี้
+ สำเร็จการศึกษาในสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ และมีวุฒิการศึกษาระดับ ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี หรือปริญญาโท
+ มีประสบการณ์ในการทำงานก่อนเข้าทำงานในสถานประกอบการนี้ไม่เกิน 1 ปี (0 - 1 ปี)
- เงินเดือน หมายถึง เงินเดือนปัจจุบันก่อนหักภาษี หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ (เช่น ค่าประกันสังคม ค่าสมาชิก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (เงินสะสม) เป็นต้น ) ซึ่งสถานประกอบการให้เป็นค่าตอบแทนทำงานแก่พนักงานประจำ
- เงินเพิ่มอื่นนอกจากเงินเดือน หมายถึง ค่าตอบแทนที่พนักงานได้รับเป็นตัวเงินประจำทุกเดือน เช่น เงินประจำตำแหน่ง เงินค่าเช่าบ้าน เงินช่วยเหลือที่อยู่อาศัย เงินช่วยค่าครองชีพ เงินช่วยอาหาร เงินค่าเสี่ยงภัยหรือเบี้ยเลี้ยงกันดาร เงินค่าวิชา เงินค่ารถประจำตำแหน่ง/ค่าเดินทาง/ค่านำมันแบบเหมาจ่าย เงินค่ารับรองแบบเหมาจ่าย เงินค่ามอมมิชชั่น
- ระดับตำแหน่ง
ระดับตำแหน่ง 1 เป็นผู้ทำงานระดับผู้อำนวยการฝ่าย ในฐานะตำแหน่งหัวหน้างานระดับฝ่าย รายงานตรงต่อกรรมการผู้จัดการ มีหน่วยงานในความรับผิดชอบในระดับรองลงไปไม่น้อยกว่า 2 หน่วยงาน หรือมีผู้บังคับบัญชาไม่น้อยกว่า 30 คน มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่องานทุก ๆ ด้านในระดับฝ่าย รวมถึงการกำหนดนโยบายการปฏิบัติงานของฝ่าย การวางแผนงาน มอบหมาย วินิจฉัย สั่งการ ควบุคม ตรวจสอบ แนะนำ ติดตาม ประเมินผลการปฎิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา และแก้ไขปัญหาข้อขัดของในการปฏิบัติงานของฝ่าย
ระดับตำแหน่ง 2 เป็นผู้ทำงานระดับผู้จัดการแผนก ในฐานะตำแหน่งหัวหน้างาน ระดับแผนก รายงานตรงต่อผู้อำนวยการฝ่าย และมีผู้ใต้บังคับบัญชาไม่น้อยกว่า 10 คน มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่องานด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลัก รวมถึงการวางแผนงาน การปฎิบัติงาน มอบหมาย วินิจฉัย สั่งการ ควบคุม ตรวจสอบ แนะนำ ติดตาม ประเมินผลการปฎิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา และแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการปฎิบัติงานของแผนก
ระดับตำแหน่ง 3 เป็นผู้ทำงานระดับหัวหน้างานระดับต้น ในฐานะตำแหน่งหัวหน้างานระดับต้น รายงานตรงต่อผู้จัดการแผนก และมีผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งปฎิบัติงานในสำนักงานไม่น้อยกว่า 6 คน มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่องานด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลัก รวมถึง การวางแผนงาน การปฎิบัติงาน มอบหมาย วินิจฉัย สั่งการ ควบคุม ตรวจสอบ แนะนำ ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ใตจ้บังคัยยัญชา และแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการปฎิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา
ระดับตำแหน่ง 4 เป็นผู้ที่มีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับ ปวช. ขึ้นไป โดยทำงานในลักษณปฎิบัติงานขั้นต้นของหน่วยงาน รายงานตรงต่อผู้บังคับบัญชาระดับต้น และมีประสบการณ์ทำงาน รวม 2 ปี ขึ้นไป มีหน้าที่ปฎิบัติงานในหน่วยงาน ติดต่อประสานงานภายใต้การกำกับดูแลของผู้บังคับบัญชาระดับต้นและ ปฎิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
- กลุ่มงาน
กลุ่มงานทั่วไป หมายถึง กลุ่มตำแหน่งในสายงานบริหารทั่วไป บริหารการขาย การเงิน การบัญชี ธุรการ ช่วยอำนวยการ นิติกร บริหารงานการตลาด บริหารงานบุคคบล พิมพ์ดีด หรือเลขานุการ ฯลฯ
กลุ่มงานวิชาชีพ หมายถึง กลุ่มตำแหน่งในสายงานวิศวกรรม การผลิต วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ สถาปนิก หรือมัณฑนากร ฯลฯ

ระเบียบวิธีการสำรวจ
แผนการสุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นแบบ stratified two - stage sampling โดยมีกรุงเทพมหานคร และภาค เป็นสตราตัม และสถานประกอบการเป็นหน่วยตัวอย่างขั้นที่หนึ่ง และนักงานประจำเป็นหน่วยตัวอย่างขั้นที่สอง

ควบเวลาปฎิบัติงานเก็บรวบรวม
ปฎิบัติงานเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2541

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไปสัมภาษณ์เจ้าของ หรือผู้จัดการ หรือเจ้าหน้าที่ที่จะให้ข้อมูลได้ จากสถานประกอบการทึ่ตกเป็นตัวอย่าง อย่างไรก็ดี สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องค้นจากเอกสารของสถานประกอบการนั้น ๆ เจ้าหน้าที่ของสถานประกอบการผู้รับผิดชอบ จะเป็นผู้บันทึกข้อมูลให้ ทั้งนี้ ในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทน ได้ขอให้สถานประกอบการแบ่งพนักงานประจำ (ไม่รวมตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด ผู้จัดการใหญ่ ผู้มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ปวช. และคนงาน) ออกเป็น 4 ระดับตำแหน่ง คือ
- ระดับผู้อำนวยการฝ่าย
- ระดับผู้จัดการแผนก
- ระดับหัวหน้างานระดับต้น และ
- ระดับปฎิบัติ
ในแต่ละระดับตำแหน่ง ให้เลือกพนักงานประจำตัวอย่างตามที่กำหนดไว้ แล้วบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือน และค่าตอบแทนเป็นรายคน

การเสนอผล
ข้อมูลของการสำรวจได้นำเสนอผลในรูปของอัตราร้อยละ และค่าเฉลี่ยในระดับภาค คือ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และทั่วประเทศ