ค้นหาแบบกำหนดเงื่อนไข

1.8 ขั้นตอนการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีสำมะโน / สำรวจ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ 2 วิธี คือ วิธีการสำมะโน และวิธีการสำรวจ ซึ่งมีขั้นตอนในการปฏิบัติงานอยู่ 4 ขั้นตอน คือ

1. ขั้นการวางแผนและเตรียมงาน เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการสถิติมากที่สุด โดย ต้องทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสถิติที่จะเก็บรวบรวม ตลอดจนประโยชน์ที่จะได้รับ พร้อมทั้งกำหนดแผนงาน ที่จะดำเนินการ ตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษารายละเอียดของโครงการ กำหนดวัตถุประสงค์ พิจารณางบประมาณ จัดทำแบบสอบถาม กำหนดระเบียบวิธีการสำรวจ การอบรมเจ้าหน้าที่การประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการเตรียมงานประมวลผล

ขั้นตอนที่มีความสำคัญมากในการที่จะทำให้ได้ข้อมูลถูกต้องสมบูรณ์ใกล้เคียงกับความเป็นจริง คือ การกำหนดระเบียบวิธีการสำรวจซึ่งเป็นขั้นตอนในการกำหนดขนาดตัวอย่าง และวิธีการในการเลือกตัวอย่าง ซึ่งจะต้องจัดทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการสถิติมากที่สุด

2. ขั้นการเก็บรวบรวมข้อมูล ในทางปฏิบัติเรียกขั้นตอนนี้ว่า การปฏิบัติงานสนาม เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นขั้นตอนที่จะทำให้ได้ข้อมูลตามที่ต้องการ ซึ่งอาจจะเก็บข้อมูลจากรายงาน เอกสารต่างๆ หรือส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการสัมภาษณ์จากแหล่งที่ให้ข้อมูลโดยตรง เช่น ครัวเรือน สถานประกอบการ หรือผู้ที่สามารถให้ข้อมูลได้แล้วบันทึกข้อมูลลงในแบบสอบถาม หรือขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บันทึกข้อมูลลงในแบบสอบถาม การปฏิบัติงานใน ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่ให้ข้อมูลเป็นอย่างมาก

3. ขั้นการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อปฏิบัติงานเก็บรวบรวมข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว แบบสอบถามที่บันทึกข้อมูลแล้ว จะถูกนำมาทำการประมวลผล ซึ่งในปัจจุบันจะทำการประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Mainframe และ Microcomputer) โดยแบบสอบถามเหล่านั้นจะถูกนำมาทำการบรรณาธิกร คือ การตรวจสอบความครบถ้วน ความถูกต้อง ความแนบนัย และความเป็นไปได้ของข้อมูล แล้วนำไปทำการลงรหัส คือ การแปลงข้อมูลจากแบบสอบถามให้เป็นรหัส หลังจากนั้นนำข้อมูลที่อยู่ในรูปของรหัส มาบันทึกลงในสื่อ เพื่อใช้ในการประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น เทปแม่เหล็ก diskette เป็นต้น ปัจจุบันสำนักงานสถิติแห่งชาติได้นำเครื่อง ICR (Intelligent Character Recognition) มาใช้ในการอ่านข้อมูล ซึ่งทำให้สามารถลดเวลาในการประมวลผลลงได้อย่างมาก ต่อจากนั้นทำการทวนสอบข้อมูลที่บันทึกลงในสื่ออีกครั้งด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แล้วทำการประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ตามรูปแบบที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของตารางสถิติ เมื่อประมวลผลเสร็จแล้วก็จะทำการตรวจสอบข้อมูลที่ได้อีกครั้งแล้วจึงนำมาวิเคราะห์ ตีความหรือแปลความหมายของข้อมูลสถิติที่ได้

4. ขั้นการนำเสนอข้อมูลและจัดทำรายงาน เป็นขั้นตอนที่จะนำผลที่ได้จากการทำสำมะโน หรือสำรวจออกเผยแพร่ให้ผู้ใช้ข้อมูลหรือประชาชนได้ทราบ งานในขั้นนี้ มีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อจัดข้อมูลที่ให้ความหมายอย่างเป็นระเบียบ สรุปข้อมูลได้ง่าย และเพื่อเน้นลักษณะของข้อมูลนั้น ซึ่งได้แก่ การจัดรูปแบบการนำเสนอข้อมูล ( ตารางสถิติ แผนภูมิ แผนภาพ ) การจัดทำต้นฉบับรายงานผล สำมะโนหรือสำรวจ พร้อมทั้งดำเนินการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มและเผยแพร่ต่อไป



ขั้นตอนการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีสำมะโน / สำรวจ
 

- กำหนดขอบข่าย และระเบียบวิธีการเก็บข้อมูล

- ศึกษาและพิจารณารายการข้อมูล ที่จะเก็บรวบรวม

- กำหนดคำจำกัดความ หรือคำนิยาม

- ร่างแบบข้อถาม ทดสอบแบบข้อถาม และแก้ไขแบบ

- คู่มือการปฏิบัติงาน เก็บรวบรวมข้อมูล และการบันทึกแบบข้อถาม

- เตรียมตารางเสนอผล

- เตรียมโปรแกรมประมวลผล

- จัดทำแผนที่ แสดงเขตการปฏิบัติงาน

- กำหนดวิธีการประมวลผล

- เตรียมงานสนาม

- อบรมพนักงานสนาม

- เตรียมงานสำรวจภายหลัง การทำสำมะโน / สำรวจ

- ประชาสัมพันธ์โครงการ

- จัดอัตรากำลังพนักงานสนาม

- พนักงานแจงนับ ทำการสัมภาษณ์ประชากร ที่อยู่ในเขตที่กำหนด และบันทึกข้อมูลลงในแบบข้อถาม

- ตรวจสอบแบบข้อถามที่บันทึก จากงานสนาม รวบรวมแบบเพื่อส่งไปประมวลผล

- สำรวจภายหลังการแจงนับ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของคุ้มรวม และความแนบนัยของข้อมูล

- ตรวจสอบจำนวนแบบ ที่ส่งเข้าประมวลผล

- ทำการบรรณาธิกร และลงรหัสในแบบข้อถาม

- ตรวจสอบการลงรหัส

- บันทึกข้อมูล

- ตรวจสอบข้อมูล ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ และแก้ไขให้ถูกต้อง

- ประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ตามตารางหรือรายการต่าง ๆ ที่ต้องการ

- วิเคราะห์ข้อมูล

 

- ตรวจสอบความถูกต้อง ที่ได้จากการประมวลผล

- จัดรูปแบบตาราง

- เตรียมต้นฉบับรายงาน

- จัดทำแผนภูมิ หรือแผนภาพประกอบ

- จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม

- เผยแพร่ข้อมูล


|บทที่ 1| 1.1| 1.2| 1.3| 1.4| 1.5| 1.6| 1.7| 1.8| 1.9| 1.10| 1.11| 1.12|
|บทที่ 2|
2.1| 2.2| 2.3| 2.4|